• ผู้อำนวยการกอง
• ข้อมูลพื้นฐาน
• ประวัติความเป็นมา
 
 
 


โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2492 แผนกอายุรกรรมเป็นหนึ่งในส่วนราชการเริ่มต้นของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช มี น.ต.สดับ ธีรบุตร (พล.อ.ต. สดับ ธีรบุตร) เป็นหัวหน้าอายุรแพทย์คนแรก 

24 ธันวาคม 2495 กองทัพอากาศได้ปรับปรุงอัตรากำลังและส่วนราชการใหม่ ตามอัตรา ทอ. 2495 โรงพยาบาล ภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการปรับปรุงส่วนราชการแบ่งออกเป็น 16 ส่วน แผนกอายุรกรรมนับเป็นแผนกหนึ่งที่รวมอยู่ในการปรับปรุงส่วนราชการในครั้งนั้น โดยมี น.ต. น้อย ปาณิกบุตร เป็นหัวหน้าแผนกคนแรก แผนกอายุรกรรมเมื่อแรกตั้งนั้นได้รวมการรักษาด้านกุมารเวชกรรมเข้ามาอยู่ในแผนกด้วย

ในระยะแรกของแผนกอายุรกรรมมีอาคารผู้ป่วยในทั้งหมด 3 อาคาร คือ อาคาร 9 (รับผู้ป่วยชาย) อาคาร 5 (รับผู้ป่วยหญิงและกุมาร) และอาคาร 6 ชั้นบน (รับผู้ป่วยชายโรคติดต่อและวัณโรค) ส่วนด้านทารกแรกคลอด แยกไปขึ้นกับแผนกสูติ-นรีกรรม ใช้อาคาร 1 เป็นอาคารตรวจโรคผู้ป่วยนอก และอาคาร 10 สำหรับผู้ป่วยพิเศษ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 ได้มีการขยายการบริการด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น แผนกอายุรกรรมได้รับการปรับปรุงขึ้นเป็นกองอายุรกรรม โดยมี น.อ.น้อย ปาณิกบุตร เป็นหัวหน้ากองอายุรกรรมตั้งเป็นแผนกกุมารเวชกรรม

พ.ศ. 2512 โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งด้านอาคาร สถานที่ และด้านการบริการ และเช่นเดียวกันกองอายุรกรรมก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่เล็งเห็นถึงความสำคัญชองการดูแลรักษาผู้ป่วยด้านอายุรกรรม ได้มีการขยายอาคารรับผู้ป่วย โดยย้ายผู้ป่วยอายุรกรรมชายจากอาคาร 9 มาอยู่ที่อาคารอายุรกรรมชายที่สร้างใหม่ อยู่ระหว่างอาคาร 5 และอาคาร 6 ซึ่งมีสถานที่กว้างขวางรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ในช่วงนั้น น.อ.สนอง ศุขเสงี่ยม เป็นหัวหน้ากองอายุรกรรม และได้ปรับอัตราเป็นผู้อำนวยการกองอายุรกรรมในปี พ.ศ. 2515 ในระหว่างที่ท่านเป็นผู้อำนวยการกองอายุรกรรมอยู่นั้นบางช่วงมีปัญหาการขาดแคลนแพทย์อย่างหนัก มีอายุรแพทย์อยู่เพียง 2 ท่าน ร่วมกันทำงานกับผู้อำนวยการกองผลัดเปลี่ยนกันดูแลผู้ป่วย ทั้งฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ต่อมาในระยะหนึ่งจึงได้แพทย์จบใหม่มาช่วยงานมากขึ้นเรื่อยๆ

ในปี พ.ศ.2517 เมื่อมีการเปิดใช้อาคารสลากกินแบ่งรัฐบาล 8 ชั้น ได้มีการย้ายที่ทำการของกองต่าง ๆ กองอายุรกรรม ซึ่งระหว่างนั้นมี น.อ.อาวุธ สิริกรรณะ เป็นผู้อำนวยการกองอายุรกรรมได้รับมอบอาคารสลากกินแบ่ง 3 มาเพิ่มเติม ได้เปิดหออภิบาลผู้ป่วยออกเป็นหออภิบาลอายุรกรรม (ICU) และหออภิบาลโรคหัวใจ (CCU) ขณะเดียวกันได้จัดหาพัสดุและอุปกรณ์ด้านการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อช่วยในการตรวจและวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจคลื่นสมอง และกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น มีการเตรียมการด้านบุคลากร โดยส่งแพทย์เข้าอบรมเพิ่มเติมในสาขาอายุศาสตร์และโรคเฉพาะทางบางสาขา เช่น โรคหัวใจ ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ อย่างไรก็ตามการรักษาพยาบาลก็ยังประสบปัญหาอยู่มาก อาทิเช่น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปรับการตรวจทางรังสีกรรมในอาคารอื่น เป็นต้น

พ.ศ. 2520 น.อ.ประพัตรา ตัณฑ์ไพโรจน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองอายุรกรรม ได้มีการปรับปรุงจัดหาอุปกรณ์การแพทย์เพิ่มเติม เช่น echocardiogram, hemodialysis machine, Holter EKG เป็นต้นมีแพทย์กลับมาจากการอบรมทั้งในและนอกประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้การปฏิบัติงานคล่องตัวขึ้น เริ่มมีการเปิดคลินิกเฉพาะโรค และได้เริ่มมีการวางแผนในการอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ในช่วงนั้น

ต่อมาโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ได้เริ่มก่อสร้างอาคารคุ้มเกล้าฯ ขึ้น เพื่อเป็นการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้ทันสมัย และรวมส่วนการให้บริการและการบริหารภายในอาคารเดียวกัน มีการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กองอายุรกรรม ได้ย้ายขึ้นมาอยู่ในอาคารคุ้มเกล้าฯ ในปี พ.ศ. 2528 โดยมีส่วนที่ทำการกองอยู่ที่ชั้น 4 ส่วนของอาคารผู้ป่วยในอยู่ชั้น 8 ทั้งหมด ส่วนของหออภิบาลอายุรกรรม (ICU) และหออภิบาลโรคหัวใจ (CCU) อยู่บริเวณชั้น 3 ของอาคารคุ้มเกล้าฯ ก่อนหน้านี้ได้มีการส่งอายุรแพทย์ไปรับการฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพิ่มเติมทั้งภายในและภายนอกประเทศ จากนั้นแพทย์ที่จบจากการอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมสาขาต่างๆ เริ่มกลับเข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น จนโรงพยาบาลได้รับความไว้วางใจจากแพทยสภา ให้สามารถเปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ ในปี พ.ศ.2528 พร้อมกับการเปิดอาคารคุ้มเกล้าฯ จากการเปิดฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านทำให้การบริการผู้ป่วยสมบูรณ์ขึ้นและช่วยให้วิชาการในการรักษาผู้ป่วยของกองอายุรกรรมได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

แพทย์ของกองอายุรกรรมได้เป็นส่วนสำคัญในการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและพัฒนาการรักษาโรคหัวใจขึ้น นอกจากนี้ จากนโยบายของผู้บังคับบัญชาที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการตื่นตัวทางด้านวิชาการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จึงมีการจัดให้มีการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์ ในโครงการผลิตแพทย์แนวใหม่ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ตั้งแต่นั้นมากองอายุรกรรมจึงมีภารกิจเพิ่มขึ้นในด้านการจัดการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์เป็นประจำตลอดปี

กองอายุรกรรมในปัจจุบันเป็นกองหลักที่มีภารกิจครอบคลุมการให้บริการด้านการรักษาพยาบาล ทั้งข้าราชการ ทอ. ครอบครัว ตลอดจนประชาชนทั่วไปอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับโรงพยาบาลที่ทันสมัยของประเทศ มีการผลิตบุคลากรด้านการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถได้มาตรฐานให้ความรู้ด้านการแพทย์แก่บุคลากรและประชาชนทั่วไป มีการพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้ภารกิจของกรมแพทย์ทหารอากาศ และกองทัพอากาศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
 
  © 2007Department of internal medicine, Bhumibol Adulyadej Hospital, All Rights Reserved. Contact us • Site map